วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

Investor Type Net Value: ต่างชาติถล่มขายตลาดจะลงจริงหรือไม่

ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ตลาดหุ้นไทยลงอย่างหนัก จากยอด 1789.16 จุด  ลงมาที่ 204.59 จุด ใช้เวลาจาก พ.ศ. 2537 ถึง 2541 ในยุคนั้นข้อมูลสรุปประเภทนักลงทุนจะไม่ได้รับการเปิดเผย ซึ่งผลสุดท้ายเมื่อได้รับการเปิดเผยนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ อย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปี อย่างหนักหน่วง ทั้งก่อนและหลังวิกฤติ ต่อมาตลาดหลักทรัพย์จึงจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลแบ่งตามประเภทนักลงทุนทุกสิ้นวันเพื่อให้เท่าเทียมในด้านข้อมูลข่าวสาร ผลของข้อมูลนี้มีอิทธิพลต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยมากน้อยแค่ไหน ยิ่งในปัจจุบันที่ข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยข่าว การประชุมกำหนดนโยบาย ราคาน้ำมัน ทองคำ ผลประกอบการ ข่าวลือ ทุกอย่างเป็นข้อมูลที่หาได้ง่าย รวดเร็ว แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ข้อมูลแบ่งตามประเภทนักลงทุนยังมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากน้อยเพียงใด มีประโยชน์แค่ไหน ติดตามได้ในบทความนี้

การซื้อขายหุ้น จะต้องประกอบด้วยตัวหุ้น ผู้ซื้อและผู้ขาย โดยผู้ที่มีข้อมูล ครบถ้วน รอบด้าน ทันเวลามักจะได้เปรียบในการอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง  ผู้ซื้อขายก็จะสามารถแบ่งประเภทออกได้ตามที่มาของการลงทะเบียน นักลงทุนกลุ่มใหญ่ในตลาดหุ้นไทยจะเป็นนักลงทุนส่วนบุคคลหรือรายย่อยเป็นกลุ่มคนจำนวนมาก และมีเงินทุนรวมกันจำนวนมาก แต่มีข้อเสียคือไม่สามารถรวมพลัง กำหนดทิศทางตลาดได้ชัดเจน อาจเป็นเพราะข้อมูลที่ไม่ทั่วถึง ประสบการณ์หรือองค์ความรู้ไม่เพียงพอที่จะรวมพลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่มักจะพยายามแยกกันทำตามการนึกคิดไปต่างๆนานา ต่างจากผู้เล่นที่เป็นสถาบัน บริษัทหลักทรัพย์ ต่างชาติ ที่มีความได้เปรียบทางด้านข้อมูล และองค์ความรู้ มากกว่า

นักลงทุนทั้งสี่กลุ่มนี้ นักลงทุนส่วนบุคคลหรือรายย่อย สถาบันซึ่งส่วนมากเป็นกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ ต่างชาติ ถ้าคิดนึกตามวิกฤติต้มยำกุ้งที่ต่างชาติเป็นผู้ขาย ก่อนและหลังวิกฤติ อาจเป็นผู้เล่นหลักที่มีอิทธิพลต่อทิศทางตลาด  แต่การทดสอบในบทความนี้เลือกใช้ข้อมูล 10 ปีย้อนหลัง พ.ศ. 2548-2557 เพื่อความทันสมัยของข้อมูล คือแม้ว่าเราจะรู้ข้อมูลก่อน 20 ปีก็คงเป็นข้อมูลที่ล้าสมัยเกินที่จะใช้ประโยชน์ได้

ใน 10 ปีที่ผ่านมานี้ ผ่านเหตุการณ์ที่สำคัญอย่างเช่น จีนเปิดประเทศมีเศรษฐกิจแบบพิเศษแต่จริงๆก็คือทุนนิยมแบบคอมมิวนิสต์ อนุญาตให้มีธุรกิจจากต่างชาติ สร้างโรงงานผลิตสิ่งของต่างๆ จนจีนกลายเป็นโรงงานของโลก ของแทบทุกชิ้นต้องมีการผลิตผ่านจีน อาจจะเป็นแค่บางชิ้นหรือทั้งหมดของสินค้านั้น สินค้าวัตถุดิบ โภคภัณฑ์ น้ำมัน ยางพารา เหล็กต่างปรับราคาเพิ่มขึ้นจากความต้องการสูง ตลาดหุ้นทั่วโลกพร้อมใจกันเป็นขาขึ้นที่รุนแรง ตลาดหุ้นจีนปรับขึ้น 2-3 เท่าตัวในไม่กี่ปี จากที่ซบเซามาตลอดให้หลายสิบปี
จากสูงสุดก็มาสู่สามัญ subprime ก็สร้างความปั่นป่วนให้ทั้ง US ,Europe และประเทศผู้ส่งออกทั่วโลก การฟืนตัวก็ใช้เวลานาน แต่ก็ทำสำเร็จด้วยการพิมพ์เงิน ตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างรุนแรงแล้วก็ปรับฟื้นกลับมาจุดเดิมก่อน subprime บางตลาดผู้ส่งออกปรับขึ้นเลยจุดก่อนวิกฤติได้

ใน 10 ปีที่ผ่านมามีทั้ง sideway ขาขึ้นรุนแรง ขาลงรุนแรงกว่า และการฟื้นตัวอย่างช้าๆยาวนาน เหมาะสมในการทดสอบกลยุทธต่างๆได้อย่างดี ตลาดขาดแค่ การปรับตัวลงอย่างช้าๆ ซึ่งปกติจะไม่พบในตลาดหุ้น แต่ใน โภคภัณฑ์ การปรับตัวลงอย่างช้าๆแต่ยาวนานจะพอพบเห็นได้บ้าง

ความคิดความเชื่อเดิมเกี่ยวกับการซื้อขายแบ่งตามประเภทนักลงทุนจะมีดังต่อไปนี้
-ต่างชาติซื้อหรือขาย ตลาดจะไปในทิศทางหลักนั้น
-สถาบันซึ่งเป็นกองทุนรวม จะพยุงตลาดหรือปรับขึ้นทดสอบแนวต้านต่างๆได้ เดือนธันวาคมจะมีเงินทุน LTF เดือนมกราคมจะมี window dressing เดือนพฤษภาจะมี sell in may and go away (การทดสอบไม่ได้ทดสอบในระดับเดือน เพราะทำแล้วแต่ไม่ได้นำเสนอพบว่าเป็นเรื่องไม่ได้มีนัยยะสำคัญ คือจริงไม่เกิน 50% เป็นแค่เรื่องเล่าให้ฟังให้ตื่นเต้น เรื่องไม่จริง 50% ก็คือเรื่องโกหก 50% แต่ใน system trade อาจใช้เรื่องจริง 50% ให้เป็นประโยชน์ได้เสมอ )
-บริษัทหลักทรัพย์ เล่นสั้น แนะนำให้ทำอีกแบบแต่กลับทำตรงกันข้ามที่แนะนำ โดยปกติบริษัทหลักทรัพย์แผนกวิเคราะห์จะแยกออกจากแผนก trade อาจใช้ข้อมูลร่วมกันแต่เป็นอิสระต่อกัน trader จะมีอิสระในการคิดและทำแบบจินตนาการมนุษย์ธรรมดาอาจไปไม่ถึง ซึ่งต่างกับนักวิเคราะห์ที่ต้องมีศิลปะในการขายที่ต้องอธิบายให้รายย่อยที่ฟังเข้าใจ
-รายย่อย ซื้อเมื่อไหร่ หุ้นลง ขายเมื่อไหร่หุ้นขึ้น แต่ก็มีนักเชียร์หุ้นที่บอกว่า ขายทำกำไร ช้อนซื้อหุ้น ซึ่งเป็นความเข้าใจของนักข่าวในยุควิกฤติต้มยำกุ้ง การซื้อสวนทิศทางหลัก ไม่ได้ช่วยทำให้หุ้นขึ้น ถ้าไม่รวมพลังสามัคคีกันอย่างเหนียวแน่น การที่ซื้อเฉลี่ยต้นทุน 5,4,3,2,1 บาทก็ไม่ได้ช่วยให้การช้อนหุ้นกำไร แล้วหุ้น 1 บาทก็นิ่งๆไป 5 ปี พอขึ้นกลับมา 1.20 จะบอกว่าขายทำกำไรแล้วทุน 5 บาทคืออะไร นักข่าวในยุควิกฤติต้มยำกุ้งจะมี model ว่าราคาหุ้นขึ้นลงเล็กน้อยเปลี่ยนแปลงไม่กี่ % ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง แต่ก็มีคนเชื่อเพราะเป็นเรื่องเข้าใจง่าย การขายหุ้นที่ซื้อมา 2 บาทแล้วขาย 3 บาทกำไรก็จริง ขายทำกำไรได้ แต่ถ้าหุ้นวิ่งไป 7 บาท กำไรที่ได้น้อยนิดมาก

รายย่อยที่ตั้งใจในการลงทุนอาจคิดไปว่าการทำตามตำราทุกประการจะเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ ยิ่งทำสิ่งที่ซับซ้อนจะยิ่งให้ผลดี ซึ่งความคิดเห็นนี้แทบจะไม่มีความจริง เทคนิคต่างๆที่ค้นคิดกันมาจากตำราต่างประเทศ ที่ซับซ้อนส่วนมากใช้งานจริงไม่ได้ หรือโอกาสที่เกิดขึ้นมีน้อยมาก ตีเส้น trend line กี่ครั้ง เราจะพบเห็นบ่อยๆกับการเป็นเซียนกราฟด้วยการตีเส้น วัดแนวรับแนวต้าน หาแนว fibonacci หรือการทำให้ระบบซับซ้อนด้วยการใช้ indicator หลายตัว ทั้งหมดมีบทความที่ทดสอบมาแล้วทั้งนั้นว่าใช้ไปก็เสียเวลาเปล่าเป็นแต่การแห่ทำตามแฟชั่นเซียนกราฟว่าทำแบบนี้แล้วจะดี แต่ใช้งานจริงไม่ได้ สนใจอ่านเพิ่มเติม หุ้นปันผลทำให้รวยอย่างมากจริงหรือPE ถูกหุ้นน่าเก็บ,  RSI divergenceDCA เฉลี่ยต้นทุนTrend line, Boilinger Band, Signal Confirm, แนวรับแนวต้าน, Stop Loss, Fibonacci , Multi Timeframe หัวข้อที่นิยมมีจำนวนมาก แต่ยากที่จะเจอสิ่งที่ใช้งานได้ นำสิ่งที่ใช้งานไม่ได้มาประกอบกันเพื่อหวังให้เป็นสิ่งที่ทำงานได้ดี ก็คงจะห่างไกลจากความเป็นจริง

ความเชื่อเหล่านี้ก็พอจะหาข้อมูลสนับสนุนทางด้านเหตุผลได้ว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น แต่ถ้าเป็น system trade จะยึดผลลัพธ์สุดท้ายว่ามีความสัมพันธ์กันจริงแท้แค่ไหน นำไปใช้ประโยชน์เชิงกลยุทธได้หรือไม่

การหาความสัมพันธ์ยอดซื้อขายกับทิศทางราคาของ SET

การทดสอบจะนำยอดซื้อขายแบ่งตามประเภทนักลงทุน สถาบัน บริษัทหลักทรัพย์ ต่างชาติ รายย่อย ที่ทางตลาดหลักทรัพย์ประกาศ ในยอดสรุปจะมี ยอดซื้อ ขาย และสุทธิซึ่งก็คือ ซื้อ ลบ ขาย ยอดสุทธินี้จะนำมาทำการ Accumulate ย้อนหลังไป จะสามารถนำมา plot เป็น กราฟได้เหมือนกับ ราคาของ SET

จากนั้นจะหาความสัมพันธ์ด้วย Correlation coefficient ซึ่งเป็นการหาความสัมพันธ์ของข้อมูลสองชุด ตัวเลขที่ออกมาถ้า corr หรือ r2 >0.5 หรือ 50(กรณีนี้คูณ 100 เพื่อให้อ่านง่าย)  ข้อมูลสองชุดจะมีความสัมพันธ์กันแบบ moderate เป็นแบบขั้นกลาง ถ้า corr<-0.5 ข้อมูลสองสุดก็มีความสัมพันธ์กันแบบ moderate แต่อยู่ในทิศทางตรงกันข้าม คือถ้าข้อมูลแรกไปอีกทิศ ข้อมูลที่สองจะสวนทิศเสมอ เป็นความสัมพันธ์แบบขัดแย้ง ต่างจาก -05<corr<0.5 ซึ่งเป็น weak อาจจะไม่สัมพันธ์กันนัก
ถ้า corr เป็น moderate เราอาจบอกได้ว่า ยอดซื้อขายของกลุ่มนักลงทุนกลุ่มนั้นมีความสัมพันธ์กับทิศทางราคา SET
ถ้ากลุ่มนี้ขายหรือซื้อก็จะกำหนดทิศทางราคาของ SET ได้
ถ้า corr>0.5 กลุ่มที่ซื้อจะพาให้ตลาด SET ขึ้น
ถ้า corr<-0.5 กลุ่มนี้ซื้อ SET จะลง (คิดตามความเชื่อ รายย่อยซื้อ SET จะลง ซึ่งนักข่าวจะบอกว่าไม่จริง รายย่อยซื้อคือการช้อนซื้อ ดูตัวเลขก็พอจะบอกได้ว่าแนวโน้มไปทางไหน )

การทดสอบยังได้แบ่งช่วงออกเป็นสองช่วง 4year1 เป็นช่วงที่ตลาด SET sideway และขาลง subprime และ 6year2 SET เป็นขาขึ้นยาวนาน

ผลการทดสอบหาความสัมพันธ์ยอดซื้อขายของนักลงทุน 10 ปี พ.ศ. 2548-2557

ผลการทดสอบออกมาดังนี้ ตลอด 10 ปี บริษัทหลักทรัพย์จะมีทิศทางที่ไปในทิศทางเดียวกับตลาดมากที่สุด รายย่อยจะเป็นผู้สวนทิศทาง หรือถ้ารายย่อยซื้อหุ้นจะลง รายย่อยขายหุ้นจะขึ้น การขึ้นขายลงซื้อ หรือช้อนหุ้นขายทำกำไร ก็ต้องไปนึกดูว่าจริงแค่ไหน แต่ทิศทางของตลาดจะสวนทิศทางกับสิ่งที่รายย่อยทำ
ถ้าดูย่อยไปในสองช่วงจะพบว่า บริษัทหลักทรัพย์มีบทบาทในช่วง 6year2 หรือในช่วงหุ้นขาขึ้นเท่านั้น ในช่วง 4year1 ไม่มีความสัมพันธ์กันเลย
กลุ่มต่างชาติที่ขายในช่วงขาลง 4year1 มีบทบาทอย่างมาก โดยมีสถาบันเป็นผู้รับซื้อไว้ พร้อมๆกับรายย่อย ต่างชาติในขาขึ้นกลับไม่ได้มีทิศทางเดียวกับตลาด
สถาบันมีบทบาทในช่วงขาลงคือรับซื้อของถูกไว้ได้ใน 4year1 แต่เมื่อเป็นขาขึ้น บทบาทกลับลดลง
รายย่อย ไม่ว่าจะเป็นช่วงไหนๆ รายย่อยก็เล่นในทิศทางที่สวนทิศกับตลาดเสมอ สมกับกลยุทธ ขึ้นขาย ลงซื้อที่นิยมกล่าวกัน

ถ้าบอกว่าบริษัทหลักทรัพย์สามารถเล่นในทิศทางเดียวกับตลาดได้อย่างดี อาจต้องระบุลงไปว่าเฉพาะขาขึ้น เพราะในขาลงบริษัทหลักทรัพย์แทบจะไม่มีบทบาทที่สำคัญเลย
แต่จะเป็นเรื่องง่ายมากถ้าจะสรุปว่า รายย่อยจะเล่นสวนทิศทางของตลาด ไม่ว่าจะเป็นขาลงหรือขาขึ้น รายย่อยก็สวนทิศได้เสมอ

กลยุทธการสวนทิศของรายย่อยจะคล้ายๆกับกลยุทธ RSI<30 แล้วซื้อ RSI>70 แล้วขาย ซึ่งทดสอบได้ไม่ยากใน สัญญาณซื้อขายที่ดีใน system trading ซึ่งเราก็จะบอกได้ว่าถ้าใช้ไปนานๆจะเกิดอะไรขึ้น
กลยุทธที่ทำให้กำไรซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ทำได้ดีในขาขึ้น จะคล้ายๆกับ trend following ที่จะเกาะทิศทางหลักไปไม่เล่นสวนทิศทาง แม้ว่าบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์มักจะแนะนำเป็นตัวเลขแนวรับแนวต้าน ซึ่งจะไม่ใช่วิธี trend following อย่างแน่นอน อาจเป็นอย่างข้อสังเกตที่ว่า บทวิเคราะห์และแผนก trade เป็นแผนกทีแยกกันโดยอิสระ ไม่ได้ใช้ใช้วิธีเดียวกัน หรืออาจเป็นวิธีเดียวกันได้ในบางจังหวะแต่คงไม่สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ข้อพิสูจน์นี้ยากที่จะล้วงความลับของบริษัทหลักทรัพย์ได้

แต่สิ่งที่เรารู้เห็นได้ไม่ยากก็คือ พฤติกรรมของรายย่อยว่าเล่นหุ้นอย่างไร ชอบฟังเรื่องบอกต่อ ข่าวลือ หรือวิเคราะห์เองแบบใช้จินตนาการ ศึกษาความรู้ตามฝรั่ง อ่านเองหรือไปเรียนคนที่แปลตำราให้ฟัง หรือนักวิเคราะห์สอนโดยไม่เคยสงสัยจริงจังว่าความรู้ที่นักวิเคราะห์สอนเป็นเรื่องใช้งานได้แค่ไหน แนวรับแนวต้าน ตีเส้น นับ elliott wave มีความสัมพันธ์แค่ไหนกับเรื่องจริง พฤติกรรมเหล่านี้พอจะคาดเดาได้สำหรับรายย่อย เพราะทุกเรื่องมีเหตุผลให้น่าเชื่อถือได้แม้จะไม่ใช่เรื่องจริง เรื่องไม่จริงก็มีเหตุผลได้ ไม่ได้แปลกอะไร เหตุผลที่หามาภายลหลังเหตุการณ์หาได้ง่ายเสมอ

ต่างชาติเป็นผู้มีบทบาทอย่างแท้จริงในขาลง แต่สำหรับขาขึ้นแล้ว ทำไม่ได้ดีไปกว่าสถาบัน อาจเป็นด้วยเหตุผลที่มีทุนอยู่ก่อน 10 ปีที่ทดสอบ หรือลงทุนด้วยกลยุทธยาวนานก็บอกได้ยาก แต่การ monitor ต่างชาติทุกเย็นหรือครึ่งเช้า ว่าต่างชาติทำอะไรอยู่ ก็อาจได้ผลลัพธ์ที่ได้ไม่น่าประทับใจมากนัก เป็นแต่เรื่องสนุกให้ลุ้นตื่นเต้น ต่างชาติซื้อก็อาจไม่ได้ทำให้ตลาดขึ้น ต่างชาติขายหุ้นก็ไม่ลงก็ใน ใน 6 ปีที่ผ่านมา ต่างชาติถล่มขายในขาขึ้นก็ไม่ได้ทำให้หุ้นลงดังที่ตั้งคำถาม ต่างชาติซื้อหุ้นไม่ขึ้นก็ได้ แต่ถ้าต่างชาติขายในขาลงตลาดจะลงอย่างแน่นอน แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้เป็นขาลง ไม่ได้มีป้ายปักไว้ที่ใด ไม่มีทางที่จะรู้ว่าเมื่อไหร่ ต่างชาติจะมีอิทธิพลในการขายแล้วลง

อาจจะเป็นการง่ายและได้ผลมากกว่าที่เราจะ monitor ว่าปัจจุบัน รายย่อย ทำอะไรก็ทำสวนทิศทางของรายย่อยซึ่งเป็นคนส่วนมาก รายย่อยปกติจะคิดว่าตนเองทำสวนทิศกับคนอื่น แต่ก็ทำออกมาคล้ายๆกัน คือคิดว่าตนเองสวนทิศกับคนอื่น แล้วจะมีคนทำตามในภายหลัง เราต้องคิดให้ต่าง แต่ความต่างแบบนั้นใครๆก็คิดเหมือนกัน ผลออกมาจะกลายเป็นคนหมู่มากไปในทางที่ผิด(แต่การเมืองเขาจะถือว่าเสียงข้างมากถูกต้อง) ถ้าจะไม่เหมือนคนหมู่มากทำ ก็ต้อง monitor คนส่วนมากว่าทำอะไรจึงจะพบคำตอบ ดีกว่าไปนึกคิดเอาด้วยเหตุผล
อีกเหตุผลนึงที่ทำให้เป็นเช่นนี้ เพราะกลไกตลาดจะมีกลุ่มคนที่วาง bid offer ซื้อขายไว้สวนทิศทางเสมอ ถ้าตลาดไปทางไหน กลุ่มคนที่วาง order ไว้สวนทิศก็จะรับไว้ได้ทั้งหมด รายย่อยมีจำนวนมากทั้งจำนวนและขนาดเงินก็อาจจะแสดงในผลยอดการซื้อขายในทิศทางที่สวนเสมอ เหตุผลนี้จะบอกถึงตลาดมักจะมีโอกาสให้ได้กำไรเสมอจากคนที่เล่นสวนทิศทาง เป็นต้นกำเนิดของทฤษฎีหลายอย่างที่ตามมาอย่าง trend following ถ้าคนใช้วิธีเดียวกันหมดแล้วใครจะได้กำไร คำตอบก็จะอยู่ที่คนที่คิดจะสวนทิศทางจะมีอยู่ในตลาดเสมอ เรื่องนี้เป็นเรื่องซับซ้อน อธิบายยาก แต่ที่เห็นผลง่ายที่สุดคือทำสวนทิศกับกลุ่มรายย่อยก็จะดีเอง อย่าได้คิดทำไปในทิศทางเดียวกับคนจำนวนมาก เพราะคนส่วนมากอาจเป็นฝ่ายที่กำลังทำสิ่งที่ผิดอยู่

The minority is sometimes right; the majority always wrong.
George Bernard Shaw



คลิ๊กที่ภาพ เปิดคอร์สสอนลงทุน TFEX หุ้นด้วย system trade,
ผู้เรียนใช้สูตรสำเร็จรูปผ่าน notebook ก็ใช้งานระบบได้อย่างดีแล้ว
 


ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น