วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

P/E Ratio: หุ้นถูกดูจาก PE ได้หรือไม่

P/E ratio Price-earning ratio เป็นอัตราส่วนทางเงินแบบพื้นฐานที่ทำความเข้าใจง่ายที่สุด คือนำราคาปัจจุบันมาเทียบกับผลตอบแทนที่หุ้นทำได้ในอดีต 4 ไตรมาสล่าสุดมาเปรียบเทียบกัน เหมือนการซื้อสินค้า P Price ราคาที่ต้องจ่ายไปเทียบกับผลตอบแทนที่จ่ายคืนมา การเปรียบเทียบหุ้นถูกแพงมักจะนิยมกล่าวถึงอัตราส่วนทางเงินนี้อย่างมาก ไม่ว่าจะคำนวณ PE forward หรือ PE Range แล้้วกำหนดค่าว่า PE ค่าใดเป็นค่าที่เหมาะสม บทความนำเสนอลักษณะของ PE ที่เกิดขึ้นจริงใน SET

เวอร์ชั่น Youtube HD
P/E ratio หรือ PE เป็นอัตราส่วนทางเงินที่จะปรากฏในรายงานประจำปี หรือ ผลประกอบการที่สำคัญทางการเงิน จะนำ Price มาเทียบ Earning หรือผลตอบแทนที่ทำได้ใน 4 ไตรมาสล่าสุด การเปรียบเทียบนี้เหมือนนำสิ่งปัจจุบันเปรียบเทียบกับความสามารถในอดีต การที่บอกว่า PE ต่ำ ก็คือ P ปัจจุบันเทียบกับ E ในอดีตแล้ว ราคาต่ำ มีความหมายว่าหุ้นนั่นถูกจริงหรือไม่

การคืนทุนจากมุมมอง PE

ถ้ามองไปในการทำธุรกิจธรรมดาเช่นร้านสะดวกซื้อที่ใช้เงินลงทุน 1.5 ล้านบาท การลงทุนด้วยเงินจำนวนดังกล่าวซื้อแฟรนไชส์ ตกแต่งร้าน นำสินค้า จ้างพนักงาน เงินทุนทั้ง 1.5 ล้านบาทก็จะทำให้เราเป็นเจ้าของธรุกิจ ถ้าธุรกิจนี้ให้ผลตอบแทนกำไรมาปีละ 1.5 แสนบาท  10 ปีผ่านไปก็จะได้ส่วนทุนที่ลงทุนไปกลับคืนมา
การคิด PE ในกรณีนี้ P=1.5 , E=0.15 , PE=10 เท่านั่นเอง
ตัวเลข PE 10 มีความหมายว่าการลงทุน 10 ปีเราจะได้ทุนที่ลงไปในครั้งแรกกลับคืนมา หรือ E/P = 10% การลงทุนจะให้ผลตอบแทน 10% ต่อปี

ถ้าเป็นฝากประจำที่ให้ดอกเบี้ย 10% นับเป็นเรื่องที่น่าพึงพอใจอย่างมาก แต่ในการทำธุรกิจใดๆ ความมั่นคงคือสิ่งที่ธุรกิจต้องหลีกหนีให้ไกล ธุรกิจใดๆต้องสร้างความแตกต่าง ที่ไม่มั่นคง นับตั้งแต่ Entry การเข้าทำธุรกิจ การทำ Promotion ดึงดูดลูกค้า การแข่งขันกับคู่แข่ง การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ต้องสร้างความน่าดึงดูดให้ใช้สินค้าบริการถ้าทำโฆษณาแบบมั่นคง ยากที่ลูกค้าจะเปลี่ยนใจมาใช้สินค้า ยิ่งในธุรกิจที่เป็นที่นิยมมาก จะมีคู่แข่งจำนวนมากซึ่งจะกระทบต่อ E earning เสมอ
E earning ยากที่จะมั่นคงในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง หรือในธุรกิจที่มีอุตสาหกรรมอื่นมาทดแทนได้ E ยิ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก
อย่างเช่น มือถือ Nokia ที่มีคู่แข่ง iPhone, Samsung เข้ามาแข่งขันแบบรุนแรง การซื้อกิจการ Nokia ในยุคเริ่มต้นแม้ PE=10 แต่ถ้าเกิดคู่แข่งรายใหม่ iPhone Samsung เข้ามาในตลาด PE 10 จะเป็นเรื่องที่ต้องคิดทบทวนให้รอบคอบ

การซื้อหุ้น PE=10 จะมีความแตกต่างจากการทำธุรกิจจริงๆ เงินทุนที่ซื้อหุ้น 1.5 ล้านบาทเมื่อซื้อหุ้นแล้วเรายังสามารถขายหุ้น 1.5 ล้านบาทนั้นกลับคืนมาได้ทันที(มูลค่าที่ขายกลับมาอาจแตกต่างจากตอนซื้อ) ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าต้องผ่านไป 10 ปีจึงจะถอนทุนคืน การซื้อหุ้น 1.5 ล้านบาทจะเหมือนการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทน E/P =10% ต่อปีมากกว่า ถ้าต้องการขายคืนปีไหนก็ขายคืนได้ทันที

แต่บ.จะมีความสลับซับซ้อนมากกว่านั้น ขณะที่การทำธุรกิจดำเนินไปก็อาจมีช่วงรุ่งเรือง ตกต่ำที่ทำให้ราคาในตลาดเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ การขายคืนอาจหมายถึงกำไร ขาดทุนที่มากกว่า 10% ก็เป็นได้
เพราะราคาในตลาดเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้น ลดลงของกำไรที่บริษัททำได้ในแต่ละปี
และ E earning ที่ให้ผลตอบแทนมาก็มักจะมีบางส่วนที่ปันผลกลับมาให้ผู้ถือหุ้น และบางส่วนเก็บไว้ในบัญชีกำไรสะสม การปันผลอาจปันผลแค่ 40% ของกำไรที่ได้มา หรือบางบริษัทปันผลถึง 100% ของกำไร ในบางบริษัทในกรณีพิเศษมาก อาจปันผลถึง 110% ของกำไร กู้เงินมาปันผลนั่นเอง ทำไมจึงทำแบบนั้นต้องถามคณะบริหารว่าคิดทำอะไร ทำไมต้องกู้เงินมาจ่ายคืนปันผล ซึ่งคงทำไม่ได้ยาวนาน ทำได้ในกรณีพิเศษจริงๆ
ดังนั้นผลตอบแทน 10% จาก PE=10 จะเป็นตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น ตัวเลขจริงจะเป็น div yield ซึ่งก็มักจะขึ้นอยู่กับนโยบายการปันผลอาจเป็นแค่ 40% ของ PE=10 หรือ 4% นั่นเอง ถ้าเราต้องการเป็นเจ้าของบริษัทตลอดไปส่วนที่เก็บไว้เป็นกำไรสะสมบริษัทอาจนำสภาพคล่องดังกล่าวไปจัดสรรขยายกิจการโครงการใหม่ๆซึ่งจะเป็นผลดีต่อบริษัทมากกว่าการปันผลให้นักลงทุนที่ไม่สร้างความสามารถในการหารายได้เพิ่มแต่อย่างใด ดังปรากฏในบทความ ปันผลสูงหรือเติบโตดี

การคืนทุนจาก PE=10 ถ้าพิจารณาแต่เงินปันผล 4% ต้องใช้เวลาถึง 25 ปี เพราะมีเงินบางส่วนถูกเก็บไว้ในกำไรสะสม ถ้าพิจารณาเรื่องคืนทุนด้วย PE คงเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก แต่ถ้าพิจารณาในทางปฏิบัติเราสามารถขายหุ้นทั้งหมดที่ซื้อมาเป็นการคืนทุนที่แท้จริง บวกกับการปันผล การขายทั้งหมดก็คือการขายความเป็นเจ้าของและสิทธิ์ในการได้รับผลตอบแทน ถ้าต้องการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนก็ต้องซื้อกลับเข้าไปใหม่

การซื้อขายที่ได้กำไรส่วนต่าง บางครั้งอาจมองเป็นผลตอบแทนการลงทุนซึ่งเป็นมุมมองที่รายย่อยทั่วๆไปคำนึงถึงเป็นสิ่งแรกๆ แต่ถ้าต้องการเป็นเจ้าของกิจการอย่างแท้จริงผลตอบแทนที่บริษัททำได้จากการทำธุรกิจจะสร้างผลตอบแทนที่มหาศาลได้ถ้าเวลาผ่านไปเพียงพอ ราคาที่เพิ่มขึ้นตามกำไรที่เพิ่มต่อเนื่องและปันผลที่มีขนาดเพิ่มขึ้นแม้ div yield จะคงเดิม เมื่อระยะเวลาผ่านไปพอสมควร div อาจมีขนาดเท่าๆกับราคาที่ซื้อมา ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะการปันผลสูงที่ 40% ของกำไรแต่เป็นเพราะกิจการมีการเติบโตทางรายได้ กำไรอย่างดีต่อเนื่องสม่ำเสมอ การซื้อหุ้นเอาปันผลแล้วร่ำรวยเป็นความจริงบางส่วนไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมดหรือ white lie

นอกจาก PE ที่เทียบ P ปัจจุบันกับ E ในอดีตแล้ว นักวิเคราะห์จะสร้างความสลับซับซ้อนให้ PE ขึ้นไปอีกโดยการทำ PE forward คือ P ปัจจุบันกับ E forward หรือ E ประมาณการณ์ในอนาคต P ปัจจุบัน E ในอนาคต ซึ่งการคาดเดา E อนาคตไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจะมีความแม่นยำแค่ใด เพราะการทำนาย E แต่ละครั้งใช้วิธีในรายละเอียดที่ต่างกัน มีปัจจัยที่ไม่แน่นอนนำมาพิจารณาแบบไม่ตรงไปตรงมา จึงพบว่าถ้าให้ broker คำนวณ PE forward ออกมา ยากที่ได้ค่าใกล้เคียงกัน
แต่ก็มักใช้อ้างเป็นประจำว่า PE (forward) ระดับนี้เป็นระดับที่น่าลงทุน แต่อย่าลืมว่า E คือสิ่งที่เดามา แม้จะบอกว่า E นำมาจากเหตุผลใด แต่อนาคตเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น จะมีเหตุผลแค่ใดก็เปลี่ยนแปลงได้ ดังหลักการทางธุรกิจที่เป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง ถ้าทำธุรกิจที่คาดเดาได้ ก็จะเสียเปรียบคู่แข่งทางธุรกิจเสมอคู่แข่งเดาทางได้ Promotion ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆคงไม่มีทางที่สำเร็จซึ่งไม่เป็นความจริง บริษัทมักสร้างความประหลาดใจจนสำเร็จได้เสมอ เป็นเรื่องผิดปกติที่นักวิเคราะห์จะทำนายได้ แม้กระทั่งคู่แข่งที่ทำธุรกิจเดียวกันยังทำไม่ได้ แล้วนักวิเคราะห์ที่ไม่ได้ทำธุรกิจใดๆจะมีความสามารถมากกว่าก็เป็นเรื่องพิเศษอย่างมาก

การใช้ PE forward ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า สิ่งไหนมีความน่าเชื่อถือเพียงใดตัวอย่างที่เห็นได้จากการประเมินกำไรบริษัทในต้นปี 2556 ว่าปลายปี 2556 กำไรบริษัทจะเติบโต 25% จาก GDP ที่ประเมิณ 5% แต่ความเป็นจริง GDP ประมาณ 3%, เรื่องที่ใช้วิธีเดา ผลลัพธ์ก็คือการเดา ผลตอบแทนก็มักจะเป็นการเดาเช่นกัน

PE ถูกน่าลงทุนหรือไม่

PE สำหรับ SET จะนำ SET index มาเปรียบเทียบกับ E earning ที่บ.ทั้งตลาดทำได้หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งตลาด เมื่อได้ PE มานักวิเคราะห์ส่วนมากมักจะตีความ PE ที่ถูกแพงว่าควรซื้อหรือขายอย่างไร จากการเปรียบเทียบ PE โดยเฉลี่ยของตลาด หรือนำการคำนวณทางสถิติ SD standard derivation มาคำนวณเพิ่มเติม
การระบุว่า PE ระดับในถูกน่าซื้อก็เหมือนการทายทิศทางราคาว่า ระดับนี้คือจุดกลับตัว จากการนำ PE มาเทียบกับ SET พบว่า PE ที่อยู่ต่ำไม่ว่าจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยหรือต่ำในระดับที่น่าสนใจ การซื้อสะสมบางครั้ง SET ก็มีทิศทางปรับตัวขึ้น บางครั้งก็มีการปรับตัวลง โดยอัตราความแม่นยำก็ประมาณครึ่งนึง  ซื้อ 6 ครั้งได้กำไร 3 ครั้ง อีก 3 ครั้งที่เหลือซื้อแล้ว SET ปรับตัวลดลง
ในทางกลับกันถ้า ซื้อที่ PE สูงก็มีความแม่นยำที่ครึ่งนึงเช่นกัน บางครั้งซื้อ PE แพงมาก ราคาก็ปรับตัวขึ้น บางครั้งราคา SET ก็ปรับตัวลง
เมื่อพิจารณาความแม่นยำที่ทั้งสองกลยุทธใช้ ซื้อที่ PE ถูกหรือ PE แพง ความแม่นยำก็มีแค่ 50% ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากความแม่นยำของ indicator ทางเทคนิคโดยทั่วไป อาจเป็นข้อสังเกตได้ว่าระบบใดๆมักจะมีความแม่นยำประมาณ 50% ไม่ได้แม่นยำสูงอย่างที่คาดหวังกันไว้

คลิ๊กที่ภาพเพื่อดูรายละเอียด


ถ้าพิจารณาภาพทางขวามือ ใน case ปกติซึ่งจะพบเห็นได้ทั่วไปที่ราคาของหุ้น P จะตอบสนองต่อการคาดการณ์ก่อนที่ผลประกอบการจริงหรือ E จะประกาศออกมา P จะวิ่งขึ้นได้ก่อน E ที่ประกาศ สภาวะแบบนี้จะทำให้ PE แพง เพราะ P ขึ้นมาแล้วแต่ E ยังต้องรอการประกาศ E ที่นำมาคำนวณเป็น E ในอดีตที่ไม่สูง การเปรียบเทียบ PE จึงพบว่าแพง เมื่อ E ประกาศออกมา P กลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องคาดการณ์ถึง E ในปัจจุบันหรืออนาคตที่ปรับตัวขึ้นได้อีก 
การซื้อที่ PE แพงในกรณีแบบนี้ที่ E เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะมี P ที่วิ่งเร็วกว่า E ก็จะสามารถให้ผลตอบแทนจากส่วนต่างของราคาได้ดี ซึ่งจะมีขนาดมหาศาลมากกว่าปันผลที่ไม่เกิน 10% ราคา P ที่เปลี่ยนแปลงตาม E นี้อาจเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวเป็นสัดส่วนตามที่ E เปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีนโยบายใดจำกัดไว้ว่า E เพิ่มได้แค่ไหน ไม่เหมือนการปันผล, E อาจเพิ่มขึ้น 30% ต่อปีต่อเนื่องยาวนาน 5 ปี ซึ่งจะทำให้ E เพิ่มขึ้น 271%(1.3^5-1 ไม่ใช่ 0.3*5=150% )

เมื่อผลประกอบการมีทิศทางขาลง ราคามักจะตอบสนองสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ราคาจะปรับลดลงก่อนที่ผลประกอบการจะประกาศ ในช่วงเวลานี้ PE จะถูก ราคาปรับลดแต่ E อดีตยังดูดี การเข้าซื้อที่ PE ถูกก็อาจได้ของถูกที่ถูกต่อเนื่องและสร้างความเสี่ยหายได้อย่างร้ายแรง ในหุ้นที่ไม่ได้ดีต่อเนื่อง กำไรไม่เพิ่มขึ้นสม่ำเสมอเมื่อหมดปัจจัยกระตุ้นรายได้กำไร ราคาที่ขึ้นมาจากไหน ราคาก็จะย้อนกลับลงไปในจุดที่มาได้ ของที่ถูกจะมีเหตุผลที่ถูกซ่อนอยู่เบื้องหลังเสมอเหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกลางปี 2556 

ภาพกลางขวาเป็น case พิเศษที่นักลงทุนพยายามค้นหาอย่างมาก E เพิ่มขึ้นแต่ P ไม่ตอบสนอง case พิเศษแบบนี้จะเกิดขึ้นในหุ้นที่ไม่ได้รับความนิยม แต่บริษัทกลับพลิกฟื้นได้จริง โดยที่นักลงทุนทั่วไปสังเกตไม่เห็น ถ้าเป็นยุคอินเตอร์เน็ตเหตุการณ์แบบนี้ยากจะเกิดขึ้น เพราะแม้ข่าวลือพูดกันปากต่อปาก ข่าวนี้ก็แพร่หลายโดยใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง ข่าวส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงยากที่จะรอดพ้นความสนใจได้
ถ้าเป็นยุคที่ตำราฝรั่งเขียนหนังสือที่โทรศัพท์เป็นของที่ใช้เฉพาะในธุรกิจ แหล่งข้อมูลที่มีเฉพาะหนังสือพิมพ์เช้าที่ต้องรออ่านพร้อมๆกัน หุ้นแบบนี้จะหาได้ง่ายดังตำราแนะนำให้ค้นหา หุ้นมีมูลค่าสูงแต่ราคาไม่แพง และไม่มีคนสนใจ
แต่ถ้าเป็นยุคที่ line กระจายข่าวได้เป็นหมื่นๆคนในเวลาไม่กี่วินาที ราคากับมูลค่ามักจะสะท้อนไปในทันที ยากที่ Mr.Market จะมีอารมณ์แปรปรวนแบบไม่มีสาเหตุที่แท้จริงซ่อนอยู่

ในภาพด้านล่าง ราคาที่มีการแกว่งขึ้นลงเมื่อเทียบกับมูลค่าหรือ E earning(มูลค่าของหุ้นประเมินได้หลายแบบ E earning เป็นแบบนึงที่มีความน่าเชื่อถือในระดับกลางๆ) PE ถูกแพงไม่ได้บ่งบอก ทิศทางของผลตอบแทน ทิศทางกำไรของบ.แต่อย่างใด PE เป็นแค่ snapshot ภาพสะท้อนช่วงสั้นๆของสิ่งที่เกิดขึ้น

สรุป

PE อาจสะท้อนความถูกแพงของหุ้นได้จริง แต่จะเป็นการสะท้อนในระยะสั้น ทิศทางการเพิ่มขึ้นเติบโต หรือตกต่ำ PE จะบอกอะไรไม่ได้ว่าบริษัทดีและถูกอย่างแท้จริง การคัดเลือกบ.ดีที่มีทิศทางรายได้กำไรเติบโตได้อย่างดี ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จะสร้างความได้เปรียบมากกว่าการหาของถูกซึ่งอาจดีจริง หรือไม่ดีก็ได้ การหาบริษัทดีสามารถดูได้ในบทความ บริษัทดี การจับจังหวะ PE ถูกแพงก็ไม่ได้มีความแม่นยำไปมากกว่า indicator ทางเทคนิคแต่อย่างใด การจับจังหวะเก็งกำไรด้วย PE ถูกแพงควรมีการทดสอบที่ดีเช่นเดียวกับ indicator ทางเทคนิคโดยทั่วไปเพราะเมื่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากความเชื่อที่ไม่ได้ทดสอบมักจะสร้างความเสียหายได้อย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากไม่ได้เตรียมตัวสำหรับความผิดพลาดที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน

Expectation is the mother of all frustration.
Antonio Banderas


1 ความคิดเห็น :