วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2557

Dividend + Capital Gain: ปันผลบวกกับส่วนต่างราคาคือผลตอบแทนที่แท้จริงของนักลงทุน

ฤดูกาลปันผลสำหรับสิ้นปีงบการเงินของบ.ทั่วไป มักจะอยู่ในช่วงเดือน ก.พ. ถึง พ.ค. หลังจากประกาศงบการเงินของสิ้นปีที่ผ่านซึ่งจะมีกำหนดให้ส่งงบการเงินภายในเดือน มี.ค. หรือ 45 วันนับจากสิ้นปีงบการเงิน การประกาศงบการเงินที่ดำเนินกิจการมาทั้งปีมักจะประกาศพร้อมๆกับปันผลที่จะปันผลให้กับผู้ถือหุ้นถ้าบ.มีกำไรสะสมเพียงพอและคณะกรรมการบ.มีความเห็นชอบ ปันผลจะเป็นสิ่งที่ปรากฏเห็นได้ชัดถึงความสามารถของการดำเนินงานของบ. และจะเป็นส่วนนึงของผลตอบแทนของนักลงทุนที่จะได้รับ
บทความนำเสนอ Case Study ของ SCC, PTT ,SE-ED, BJC ในรูปแบบของผลตอบแทนรวมที่มีปันผลเป็นส่วนประกอบ



บริษัทที่ดำเนินกิจการจะมีรายได้ที่เมื่อหักค่าใช้จ่าย และอื่นๆ จะเหลือเป็นกำไร โดยกำไรนี้จะถูกแบ่งออกเป็นกำไรสะสมไว้ดำเนินงานบางส่วน บางทีก็ไม่ได้นำไปใช้อะไร และอีกส่วนจะนำออกไปปันผลให้กับผู้ถือหุ้นตามนโยบายที่ระบุไว้ ซึ่งโดยส่วนมากจะระบุว่าปันผล 40-50% ของกำไร แต่บางบ. ก็ปันผลมากถึง 70% หรือ 100% ก็มีได้
สาเหตุที่บ.สามารถปันผลได้ 100% เพราะระดมเงินลงทุนจากแหล่งเงินต่างๆ เช่นเงินกู้ หุ้นกู้ หรือบางกรณีบ.เป็น Holding company ไม่ได้ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม แต่บ.ลูกจะเป็นผู้บันทึกงบลงทุนแทนบ.แม่ บ.ลูกอาจแบ่งปันผลบางส่วนกลับคืนให้บ.แม่ และ บ.แม่ ปันผลทั้งหมดให้ผู้ถือหุ้นแทน ถ้าดูในงบการเงินของบ.แม่จะเห็นเพียงแต่ว่ามีการปันผลจากกำไรทั้งหมด แต่ในการเชื่อมโยงการลงทุนจะพบว่าบ.ลูกได้กันไว้บางส่วนสำหรับลงทุนเพิ่มเติมแล้ว การดูงบการเงินแค่บ.เดียวอาจดูที่มาที่ไปได้ไม่ครบถ้วน

ในบ.ที่ปันผลเพียง 40-50% แล้วเก็บกำไรสะสมไว้ในบัญชีงบดุล แต่เราก็อาจพบในงบกระแสเงินสดว่าบ.ไม่ได้ใช้กำไรสะสมเหล่านี้ไปลงทุน แต่ใช้กระแสเงินสดจากการหาแหล่งเงินทุนจากที่อื่นมาลงทุนแทน ในความเป็นจริงก็อาจจะทำเช่นนี้จริงๆ แบ่งกำไรสะสมไว้โดยไม่ได้ไปแตะต้อง เป็นเพียงแค่กันสำรองไว้ในยามฉุกเฉิน เผื่อในกรณีบ.ขาดทุนในปีนั้นๆ แต่กำไรสะสมก็ยังมีอยู่ คณะกรรมการก็อาจนำส่วนสะสมนี้มาปันผลแม้บ.จะขาดทุนก็ได้ แต่ถ้าบ.กำไรในปีนี้แต่กำไรสะสมเป็นขาดทุน บ.ก็มักจะไม่ปันผลจนกว่าจะล้างขาดทุนสะสม
สำหรับบ.ที่กำไรสะสมเป็นบวกต่อเนื่องก็อาจเก็บไว้โดยไม่ได้จัดการอะไร ถ้าดูในงบการเงินจะเป็น item ที่เขียนว่า กำไรสะสมที่ยังไม่จัดการ ซึ่งจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในกำไรสะสม

การปันผลมีความสลับซับซ้อนมีแง่มุมหลายอย่างที่ให้พิจารณา แต่ในมุมมองของนักลงทุนคือสิ่งที่เป็นหนึ่งในผลตอบแทนที่ตอบแทนการลงทุนไปได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด จนบางครั้งอาจมีการชูนโยบายการค้นหาหุ้นดี ปันผลสูง(สังเกตว่าต้องมีหุ้นดีด้วย) เป็นหลัก หรือจะจัดเข้ากลุ่ม defensive ปันผลสูง, หุ้น bond คือปันผลเหมือนพันธบัตร, หุ้นห่านทองคำ ออกไข่เป็นปันผล, ออมหุ้นปันผล คิดว่าการซื้อหุ้นแล้วได้ปันผลเป็นดอกเบี้ย, มีการเรียงลำดับ dividend yield ปันผล/ราคา ว่าบ.ใดให้ปันผลมากถ้าเทียบกับราคาปัจจุบัน(น่าจะใช้ได้ผลเมื่อประกาศปันผลแต่ยังไม่ XD เพราะถ้าปันผลแล้วก็คงต้องรออีก 1 ปี)

แต่ปันผลเป็นแค่ความสามารถนึงที่บ.สามารถทำได้ เป็นผลตอบแทนรูปแบบนึงที่นักลงทุนจะได้รับ โดยสะท้อนมาจากกำไรที่บ.ทำได้ ผลตอบแทนอีกรูปแบบนึงคือส่วนต่างราคา ซึ่งก็สะท้อนความสามารถในการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของกำไรบ.
ถ้าบ.มีกำไรเพิ่มขึ้น ราคาของบ.ก็มักจะเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับกำไร ถ้ากำไรบ.ลด ราคาของบ.ก็มีทิศทางลดลง ที่เป็นเช่นนี้เพราะราคาเป็นตัวแทนของ บ. ที่มีทั้งทรัพย์สิน หนี้สิน ความสามารถในการลงทุน ความสามารถในการทำกำไร ถ้าบ.มีความสามารถเพิ่มขึ้น ดีขึ้น ราคาที่เป็นตัวแทนของของบ. ก็จะเพิ่มขึ้น แม้จะในบางครั้งราคาอาจมีการแกว่งขึ้นลงไม่เป็นไปตามกำไรที่เพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวราคากับกำไรมักจะไปในทิศทางเดียวกันได้

ราคาเพิ่มขึ้นลดลงได้แบบไม่มีขีดจำกัด เหมือนกับกำไรบ.ที่ไม่มีกฏเกณฑ์ใดๆระบุไว้ว่ากำไร หรือ ราคาของหุ้นจะเพิ่มขึ้นได้เพียงใด ต่างจากปันผลที่มักมีผลตอบแทนที่ใกล้เคียงค่าใดค่านึงเช่น MLR หรือ ผลตอบแทนหุ้นกู้ ซึ่งก็มักไม่เกิน 10% แต่กำไรบ.สามารถเพิ่มขึ้นได้ 2-3 เท่าตัวได้ใน 5 ปีซึ่งราคาก็จะเพิ่มขึ้นได้ 2-3 เท่าตัวตามกำไรที่เพิ่มขึ้นได้

ถ้าเปรียบเทียบลักษณะการปันผลจะเป็นลักษณะที่ให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในปริมาณที่เล็กน้อย บ.ที่ดีมักจะมีกำไร และนำมาปันผลได้ทุกๆปี ในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงปริมาณเดิมที่เคยปันผล ถ้ากำไรไม่เปลี่ยนแปลงมาก

ผลตอบแทนรวม=ปันผล+ส่วนต่างราคา

ถ้ากำไรของบ. เพิ่มขึ้นมาก ปันผลก็จะเป็นสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับราคาที่สะท้อนความสามารถบ.ที่ทำกำไรได้มากขึ้นจะมีส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ถ้านำมาเทียบกับปันผลที่เพิ่มขึ้น เช่น กำไรบ. เพิ่ม 50% ราคาอาจเพิ่ม 50% แต่ปันผลที่เคยปันผลที่ yield 6% ก็ยังคงปันผลที่ yield 6% ปันผล/ราคาก็ยังเป็นอัตราส่วนเดิม ปันผลมาก/ราคามาก ถ้าคิดปันผลก่อนที่ราคาขึ้น yield 6% ก็จะเปลี่ยนเป็น 6%+ ปันผลที่เพิ่ม 50%  รวมได้ปันผล 9% ในกรณีนี้เราก็จะคิดผลตอบแทนรวมที่นักลงทุนที่ควรได้คือ

ผลตอบแทนรวมในกรณีกำไรเพิ่มขึ้น=ส่วนต่างราคา + ปันผลเดิม+ปันผลใหม่
=50+6+9
=65%

จะเห็นได้ชัดว่า ส่วนต่างราคาดูน่าสนใจมากกว่าปันผลอย่างมาก

แต่กำไรบ.อาจลดลงได้แม้ยังจะกำไรอยู่ ถ้าบ.ที่กำไรในปีนั้นและกำไรสะสมยังมี แม้บ.จะกำไรลดลงก็ยังคงมีปันผล ถ้ากำไรบ.ลดลง 50% ราคาก็อาจลดลง 50%(มีบ.ที่เป็นแบบนี้จริงๆอยู่) ปันผลที่เป็นสัดส่วนของกำไรก็ลดลงเช่นกัน จาก 6% yield เป็น 3 % yield ถ้าถือมาครบ 2 รอบปันผล

ผลตอบแทนรวมในกรณีกำไรลดลง=ส่วนต่างราคา + ปันผลเดิม+ปันผลใหม่
=-50+6+3
=-41%

แม้จะเลือกบ.ปันผลสูงมากถึง 6% ในตอนเริ่มต้นแต่ถ้า ราคาส่วนต่างลดลงมากถึง -50% ปันผลเล็กน้อยนี้ก็ไม่สามารถชดเชยความเสียหายได้

คลิ๊กที่ภาพเพื่อดูรายละเอียด course สอนเล่นหุ้นแบบมืออาชีพ

Case Study

ได้นำ case study ของหุ้นที่ปันผลสม่ำเสมอจากปี ค.ศ. 2001 ถึง ค.ศ. 2013 บ.เหล่านี้เป็นบ.ขนาดใหญ่ที่มั่นคงมีกำไรทุกปี มีรายได้กำไรที่เพิ่มขึ้นลดลงตามจังหวะเศรษฐกิจ และบางบ.เปลี่ยนแปลงด้วยตนเองในอุตสาหกรรมที่มีความต้องการเปลี่ยนไป

ถ้าดูที่ SE-ED บ.มีปันผล div yield ที่สูงมาก ดูที่ div% มีขนาดสูงติดกันหลายปี แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ปีล่าสุด 2013 หยุดปันผล ถ้านักลงทุนที่ชื่นชอบ บ.ปันผลสูง ยากที่จะไม่ซื้อ SE-ED 
ราคาของ SE-ED มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยดูมีความมั่นคง กำไรไม่เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ก็ไม่ลดลงรุนแรง แม้ในช่วงวิกฤติ 2008 แต่เนื่องจากความนิยมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ราคาก็ได้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจนในท้ายที่สุดกระทบกับการจ่ายปันผล ถ้าบ.แก้ไขปัญหาความนิยมผู้บริโภคได้ก็คงจะพลิกฟื้นกลับมาได้ ไม่ว่าอย่างไรคนก็ต้องอ่านหนังสือ แต่จะมากน้อยก็แล้วยุคสมัย

ถ้าดูที่ SCC, PTT จะมีลักษณะที่คล้ายกันคือ Total Return Ratio จะมี ส่วนต่างราคา Capital Gain มากกว่าปันผล Dividend ถึง 3 เท่า บ.ทั้งสองปันผลก็ดี ส่วนต่างราคาก็ให้ผลตอบแทนที่น่าประทับใจในระยะยาวมาก บ.มีลักษณะผูกขาดบางอย่างที่สามารถ ขยายบ.ได้ตามสภาพเศรษฐกิจ สินค้าที่บ.ขายเป็นสินค้าจำเป็นที่ความนิยมของผู้บริโภคมีผลกระทบน้อย ผู้บริโภคหยุดหรือเปลี่ยนการใช้สินค้าของสองบ.นี้ไม่ได้ 
ถ้าดูที่ ปันผลบ.แบบนี้จะไม่น่าจูงใจให้ซื้อเอาปันผลเลย ปันผล yield ต่ำมาก
ถ้าดูที่ gain จะพบว่าบ.มีความแข็งแกร่งทางด้านราคามีบางปีที่ราคาลดลงตามวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ลดลงอย่างรุนแรงแต่เมื่อฟื้นกับมาก็มีราคาที่ทรงตัวได้ดี

BJC เป็นกรณีที่บ.พลิกฟื้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ราคาได้พุ่งทะยานมาในปี 2010 จากการขยายกิจการได้อย่างมาก(มีนักลงทุนกลุ่มใหม่เข้ามาเพิ่มทุน) ก่อนหน้านั้นบ.ก็มีการปันผลที่ดี ก่อนการเพิ่มขึ้นของราคา บ.แบบนี้ถ้าดูที่ yield ในช่วงทีบ.เปลี่ยนแปลงด้านราคาอย่างมากจะไม่น่าสนใจให้ซื้อเอาปันผล
แต่ถ้าคิดให้ดี ปันผลเป็นสัดส่วนกับกำไรที่เพิ่มขึ้น ถ้าราคาเพิ่มขึ้น 80% จาก yield 2% จะกลายเป็น yield 2+1.6=3.6% แล้วถ้าราคายังเพิ่มขึ้นอีก 70% yield 3.6 จะกลายเป็น 3.6+2.52=6.12% สังเกตว่า yield ก็ยังสูงใกล้เคียงช่วงก่อนราคาเปลี่ยนแปลงที่มี yield ประมาณ 7% 
แต่การคิดเทียบกับราคาทำให้ดูเหมือน yield ลดลง
เนื่องจากบ.มีการเปลี่ยนแปลงราคาแบบรุนแรง สัดส่วน Total Return Ratio ของส่วนต่างราคามีมากกว่าปันผลถึง 4 เท่า

ถ้าดูที่%ผลตอบแทนทบต้นต่อปี ผลตอบแทนที่มากจากส่วนต่างราคาจะมีสัดส่วนที่สูง และขนาดปันผลต่อปีไม่ได้เป็นตัวกำหนดผลตอบแทนรวม

สรุป

การพิจารณาแต่เรื่องปันผลอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบของผลตอบแทนรวมที่ดีได้ แม้ปันผลจะให้สิ่งที่สม่ำเสมอแต่ถ้าบ.ที่ กำไรลดลงต่อเนื่องอาจหยุดปันผลได้ถ้า บ. พลิกเป็นขาดทุน หรือลดขนาดสินทรัพย์ ปิดสาขาลงได้ ปันผลที่เคยคิดว่ามั่นคงก็จะเป็นเรื่องอันตราย เพราะถ้าบ.มีกำไรที่ลดลง ปันผลก็ต้องลดลง แต่สิ่งที่สร้างความเสียหายให้เงินต้นอย่างมากจะเป็นผลต่างของราคา
การมองปันผลเป็นผลตอบแทนที่สม่ำเสมออาจเป็นภาพที่บิดเบือนเพราะปันผลอยู่บนกำไรที่ไม่มั่นคง บ.ยากที่จะกำไรคงที่ มีแต่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ไม่ทิศทางใดก็ทิศทางนึง เพราะบ.หรือการประกอบธุรกิจคือผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง การมองกำไรของบ.เป็นเรื่องมั่นคงเป็นแต่เพียงสมมติฐานที่ต้องผ่านการทดสอบทางเศรษฐกิจที่มีขึ้นลงได้

การมุ่งค้นหาแต่บ.ปันผลดีก็เหมือนการซื้อรถยนต์โดยการเปรียบเทียบที่ของแถมโดยไม่ได้คำนึงถึงสมรรถนะของรถ จุดประสงค์การใช้งาน ค่าบำรุงรักษา แต่พิจารณาเพียงแค่ sale คนไหนให้ของแถมมาก การเป็นเจ้าของกิจการเป็นผู้ถือหุ้นจะเป็นทั้งผู้ที่รับส่วนที่เป็นกำไรถ้าบ.ทำได้ดี และส่วนที่ขาดทุนเมื่อบ.เกิดปัญหา ปันผลเป็นแค่องค์ประกอบนึงที่ต้องพิจารณา แต่มีองค์ประกอบอื่นๆเช่นทิศทางของบ.ที่เจ้าของบ.ทุกท่านหรือนักลงทุนที่ต้องใช้วิจารณญาณก่อนการเป็นเจ้าของบ.เหล่านั้น

Big pay and little responsibility are circumstances seldom found together.
Napoleon Hill


ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น