เวอร์ชั่น Youtube HD
ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม จะประกอบไปด้วยหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมทำงานต่อเนื่องกันอย่างสอดคล้อง โดยปกติจะสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนแบบง่าย คือ 1. กลุ่มลงทุน 2. กลุ่มบริโภค เมื่อมีการลงทุนสร้างผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการขึ้นมา ก็จะถูกส่งผ่านไปให้ กลุ่มผู้บริโภคได้ใช้สอยสิ่งที่สร้างขึ้น
การจะลงทุนในกลุ่มลงทุนในช่วงเริ่มต้น จะพบว่ามีความต้องการ อุปสงค์ demand ต้องการสินค้า บริการ ผลิตภัณฑ์ ในกลุ่มนี้จำนวนมาก เช่น อาจมีการสั่งซื้อ เหล็ก ปูนซีเมนต์ น้ำมัน วัตถุดิบ ยางพารา ถ่านหิน และขนส่งสินค้าเหล่านี้ทางเรือ(วัตถุดิบจะใช้การขนส่งทางทะเลเพราะต้นทุนที่ถูกกว่าทางบก อากาศ) ในช่วงเวลาดังกล่าวราคาของวัตถุดิบเหล่านี้จะปรับราคาสูงขึ้น ตามความต้องการที่มากขึ้น ในของที่มีปริมาณเดิม บริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็จะมีคำสั่งซื้อ order จำนวนมากขึ้น ราคาขายต่อหน่วยก็สูงขึ้น ถ้าดูที่ผลประกอบการก็จะมียอดขาย และกำไรเพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้ดูน่าสนใจอย่างมาก
หุ้นในกลุ่มลงทุนเหล่านี้โดยส่วนมากจะเป็นหุ้นในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ commodity ซึ่งช่วงเวลาที่ดีราคาหุ้นของกลุ่มนี้จะพุ่งทะยาน มีความชันอย่างน่าประหลาดใจ มีลักษณะแบบบั้งไฟ sky rocket ไม่ว่าจะใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค การวิเคราะห์ทางคุณค่า โหราศาสตร์หุ้น หรือหลับตาจิ้ม นักลงทุนที่เกี่ยวข้องก็ได้กำไรอย่างง่ายดาย เพราะราคามีแต่ปรับตัวขึ้นในวัฎจักรที่ยังรุ่งเรืองอยู่
เนื่องจากการขึ้นแบบบั้งไฟ sky rocket วัฏจักรเมื่อมาถึงจุดสิ้นสุดการลงจะลงแบบ นกปีกหัก คือล่วง ดิ่งราคาลงแบบชัน ซึ่งจะชันมากกว่าขาขึ้น ตามลักษณะการสิ้นหวังแบบ panic ในเวลาถัดมาผลประกอบการของหุ้นเหล่านี้ก็จะยืนยันราคาที่เกิดขึ้น ราคามักจะวิ่งนำลงไปก่อน ข่าวหรือผลประกอบการอย่างเป็นทางการถูกเปิดเผย ก็จะมาถึงวัฏจักรของกลุ่มถัดมา
กลุ่มบริโภค เมื่อการผลิตสินค้า บริการเกิดขึ้นในกลุ่มลงทุน สินค้าบริการเหล่านี้ก็จะถูกกระจายไปให้กลุ่มบริโภค บริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรงจะมีสินค้าบริการที่พร้อมจำหน่ายให้ผู้บริโภคได้จำนวนมาก การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ช่องทางการจำหน่าย ก็จะได้รับเงินทุนส่งเสริมให้สินค้าบริการ เข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุด ส่วนใหญ่ของผู้บริโภคจะเป็นกลไกของระบบทุนนิยมที่มีส่วนร่วมในการผลิต ในกลุ่มลงทุนมาในวัฎจักรที่ผ่านมา ก็จะมีเงินสะสมไว้จับจ่ายใช้สอย สินค้าบริการที่ผลิตขึ้น เป็นปรากฏการณ์ ที่ผู้ผลิตสินค้าอย่างนึงอยู่ในสถานะผู้บริโภคสินค้าอีกอย่าง ซึ่งจะส่งเสริมให้เศรษฐกิจในส่วนบริโภคยิ่งเจริญเติบโตขึ้นได้
ในกลุ่มบริโภคเอง จะมีกลุ่มที่เป็นสาธารณูปโภคเช่น ไฟฟ้า ประปา ที่จะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ทั้งจาก กลุ่มลงทุนและบริโภค แต่การเติบโตของรายได้ กำไร จะไม่เจริญเติบโตมากนัก แม้จะถือเป็นส่วนนึงของต้นทุนแต่ก็ไม่ใช่วัตถุดิบโดยตรง ซึ่งจะมีความต้องการไม่สูงมาก ในกลุ่มสาธารณูโภค ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของบริโภค(แม้บางทีรายได้ส่วนมากมาจาก กลุ่มลงทุนที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่) ผลประกอบการและราคาจะโตแบบสม่ำเสมอ แบบไม่น่าสนใจนัก แต่มักจะปันผลสูงเพราะ ไม่จำเป็นต้องขยายกำลังการผลิตมาก ความต้องการมีน้อยถ้าเทียบกับวัตถุดิบอื่นๆ ถ้าสนใจการลงทุนแบบปันผลสม่ำเสมอ กลุ่มสาธารณูปโภคจะมีความน่าสนใจ
กลุ่มบริโภคก็มีจุดสิ้นสุดได้เช่นเดียวกันกับกลุ่มลงทุน เมื่อผู้บริโภคส่วนมากกำลังซื้อชะลอลง อาจเป็นเพราะสินค้าบริการ เหล่านั้นได้ไปกระจายไปถึงผู้บริโภคส่วนมากแล้ว หรือ หนี้ภาคครัวเรือนพุ่งขึ้นสูงจน สถาบันการเงินไม่สามารถ ปล่อยกู้เพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากกังวลเรื่องหนี้เสีย NPL ที่ลูกหนี้มีรายได้ไม่พอชำระหนี้ เมื่อจุดจบเหล่านี้มาถึง ผลประกอบการของกลุ่มบริโภค จะชะลอตัว ให้เห็นได้อย่างชัด รายได้ของบริษัทกลุ่มบริโภคอาจคงที่ไม่เติบโตดีเหมือนเคย กำไรสุทธิอาจลดลง เพราะต้องลดราคาขายเพื่อจูงใจลูกค้าหรือการแข่งขันด้วย promotion เพื่อรักษายอดขาย
ในกลุ่มที่เป็น สินเชื่อ Finance อสังหา Property จะเป็นกลุ่มที่ผลประกอบการและราคาหุ้น จะมีลักษณะที่ชัดเจนมากที่สุดเมื่อจุดจบมาถึง Property บางตัวราคาอาจจะลดราคาลง 50% วิ่งลงล่วงหน้าก่อนผลประกอบการจริงจะประกาศซึ่งส่วนมากก็จะยืนยันราคาที่ลดลง ซ้ำเติมราคาได้อีกครั้ง
การเล่นกลุ่ม Finance, Broker , Property ถ้าติด ณ ราคาที่สูงก่อนการลดราคา 50% คงทำได้แค่ปลอบใจว่าวัฎจักรการบริโภคที่ดีจะกลับมา เพราะในความเป็นจริง วัฏจักรเศรษฐกิจก็จะหมุนไปเริ่มที่ กลุ่มอื่นอยู่เป็นเวลาหลายปี ก่อนที่จะวนกลับมากลุ่มที่ติด ณ ราคาสูงไว้ จะให้ฟื้นกลับมาภายใน 1-2 ปีมักจะเป็นไปได้ยากที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็ว
ตัวอย่างในประเทศ ญี่ปุ่น การซบเซาของการบริโภค มีช่วงเวลายาวนาน ตั้งแต่ปี 1980 จนถึง 2010 ,30 ปีที่วัฏจักรเศรษฐกิจที่เคยรุ่งเรืองได้หยุดชะงักอย่างน่าตกใจจากการลอยตัวของค่าเงินจากสนธิสัญญา Plaza Accord ถ้าซื้อหุ้นแล้วรอ 30 ปีให้ราคากลับมาที่เดิม คงเป็นเรื่องที่ทรมานใจอย่างมาก
แต่เมื่อเร็วๆนี้ ญี่ปุ่น ได้ประกาศว่า เศรษฐกิจหยุดชะลอตัวในรอบ 6 ปี (คาดว่าเป็นวัฏจักรย่อย 6 ปีที่แล้วในปีที่ จีนเริ่มเป็นโรงงานของโลก แล้วญี่ปุ่นกลับซบเซาลง) ก็ต้องคอยติดตามกันไป
Sector Rotation Model
แนวคิดที่่อธิบายปรากฏการณ์ที่กลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่มจะได้รับผลดีในบางช่วงของวัฏจักรเศรษฐกิจจะเรียกว่า Sector Rotation ซึ่งจะกล่าวถึงกลุ่มอุตสาหกรรมของหุ้นที่ควรซื้อหรือถือในช่วงต่างกันของช่วงเวลาของวัฏจักรเศรษฐกิจ
ซึ่งจะต่างจากแนวคิดซื้อกลุ่มตาม laggard ที่อ่อนแอกว่าตลาดที่คาดว่ามีราคาถูก แต่จะเป็นการซื้อกลุ่มนำ leading ที่มักจะเป็นผู้ชนะได้อย่างยาวนาน กลุ่มนำก็จะนำต่อไปกลุ่มตามก็จะตามต่อเนื่อง ยากที่จะสลับกลุ่มกันบ่อยครั้ง Winner always wins.
เศรษฐกิจจะมีช่วงที่รุ่งเรืองและตกต่ำ สลับหมุนเวียนกันไป โดยที่ตลาดหุ้นจะเป็น leading indicator มีการเคลื่อนไหวนำหน้าเศรษฐกิจจริงไปก่อน ถ้าคิดดูให้ดีตลาดหุ้นอาจเคลื่อนไหวไปพร้อมกับเศรษฐกิจแต่เนื่องจากตัวเลขทางการ ตัวเลขผลประกอบการจะไม่ประกาศแบบรายวัน เหมือนตลาดหุ้น จึงดูเหมือนว่า การประกาศตัวเลขทางการเหล่านั้นวิ่งตามราคาในตลาดหุ้นอยุ๋
ในช่วงเริ่มต้นของวัฏจักรหลังจากเกิดการตกต่ำของเศรษฐกิจ จะเริ่มต้นด้วยกลุ่มที่เป็นวัตถุดิบการผิดซึ่งมักเป็นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เหล็ก ปูน ปิโตรเคมี น้ำมัน โดยที่ระลอกแรกของการเจริญเติบโตจะพบว่าราคาน้ำมัน ถ่านหินพุ่งขึ้น และนำตลาดให้ทะยานขึ้นอย่างน่าสนใจ และในภาคเศรษฐกิจจริง real sector ก็จะพบว่าราคาวัตถุดิบ ตัวเลขที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการก็จะยืนยันราคาหุ้นของกลุ่มพลังงาน Energy ที่เพิ่มขึ้น ตลาดหุ้นก็จะมาถึงจุดสูงสุด Market Top หลังจากตลาดกระทิง Bull Market
หลังจากตลาดหุ้นมาถึงจุดสูงสุด กลุ่มสินค้าสำหรับผู้บริโภคอุปโภค Staple , Healthcare, Utilities ก็จะได้รับผลดี ถ้าสังเกตว่ากลุ่ม Healthcare มีความน่าสนใจขึ้นมา ผลตอบแทนดูน่าประทับใจ กองทุนที่ถือกลุ่มโรงพยาบาลถูกโฆษณาประชาสัมพันธ์โดยมีตัวเลขผลตอบแทนย้อนหลังที่ดูดีแบบน่าประหลาดใจ ให้สงสัยอย่างระมัดระวังไว้ว่าตลาดกำลังจะเกิดจุดจบได้ในไม่ช้า เช่นเดียวกับ Finance ถ้าสินเชื่อขยายตัวอย่างมาก หนี้เสีย NPL เริ่มมี % เพิ่มมาก ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มาก
ถ้าดูผลตอบแทนของหลายๆ Sector แบบเปรียบเทียบกันจะพบว่า ผลตอบแทนจะไม่เป็นไปในลักษณะใน Model นัก บางครั้งกลุ่ม Technology อาจมีผลตอบแทนดีกว่า Healthcare อย่างมากหลังจากผ่านจุดที่ Energy ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว หรือ กลุ่ม Finance อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นพร้อมๆกับ Industrial สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ Model ใดๆในโลกนี้ ก็ไม่สมบูรณ์แบบเมื่อเปรียบเทียบกับความเป็นจริง
เนื่องจาก Model นี้เป็นลักษณะทฤษฎีที่มีความชัดเจนและสมบูรณ์ในตัวเองอย่างมาก แต่ในสภาพความเป็นจริง แม้ในประเทศที่เป็นชาติมหาอำนาจทางทุนนิยม ก็จะมีแค่บางอย่างที่ดำเนินตามทฤษฎีนี้อย่างตรงไปตรงมา เพราะนอกจากเศรษฐกิจจะดำเนินไปตามปกติ จะมีปัจจัยอื่นๆเข้าแทรกแซงทำให้ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีการบิดเบือนไป ปัจจัยเหล่านั้น อาจจะเป็น การเมืองการทหาร การแทรกแซงราคาน้ำมัน การออกกฏหมายรัฐสวัสดิการ รักษาฟรี ประกันสังคม อุดหนุนราคาสินค้าเกษตร โลกร้อนทำให้พืชผลทางการเกษตรขาดแคลนหรือล้นตลาด ความนิยมในกาใช้ tablet แทน pc การนิยม facebook จีนร่ำรวยขึ้นสร้างนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ก็อาจสร้างผลกระทบต่อการดำเนินการปกติของเศรษฐกิจได้
และที่สำคัญ ธุรกิจจะมีหน้าที่สร้างความเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นภาระกิจที่สำคัญอันดับแรก การแย่งชิง การแข่งขันมักจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่อาจมีนัยยะสำคัญ Game Changer ทำให้กลุ่มนำของอุตสาหกรรม และตลาดหุ้นจะไม่เป็นไปตาม Model นี้แบบตรงไปตรงมานัก
จาก Model นี้ ในต่างประเทศจะมีกองทุนที่ใช้หลักการ Sector rotation เป็น model ในการสร้างกองทุน โดยกองทุนจะซื้อ Sector ETF ซึ่งเป็นกองทุนรวมย่อยที่ซื้อเฉพาะหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม และจะหมุนเวียนซื้อขาย ETF ไปตาม model ที่ออกแบบมาว่าขณะนี้มาถึงสถานะใดของวัฏจักร และเป็นที่แน่นอนถ้าดูจากผลตอบแทนจะดูมีผลตอบแทนที่มากกว่าตลาดธรรมดา อาจจะเป็นเพราะ Model นี้สอดคล้องกับความเป็นจริง หรืออาจเป็นเพราะการคัดเลือกหุ้นใน ETF ก็จะบอกได้ยาก ว่าเหตุผลใดมีอิทธิพลมากกว่ากัน และอาจมีปัจจัยอื่นๆเช่น กลยุทธสำหรับ market timing ซึ่งกองทุนแบบ active จะมีใช้เสมอ ก็อาจเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ผลตอบแทนดูดีมากกว่าปกติก็เป็นได้
Thai Sector Model
ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งจะวัดจากรายได้ต่อประชากรซึ่งปัจจุบันประมาณ 2 แสนบาทต่อคนต่อปี (6572 USD, IMF ปี 2556) จะมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ครบเต็มรูปแบบเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว กลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้จ่ายอย่างมากจะเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ น้อยขนาดที่ว่ามีแค่ 2 ล้านคนจาก 70 ล้านคนเป็นกลุ่มคนที่เสียภาษีรายได้ให้ประเทศ กลุ่ม 2 ล้านคน หรือ 3% จะเป็นกลุ่มที่อำนาจกำลังซื้อที่กลุ่มธุรกิจบริโภคต้องการกลุ่มลูกค้าเหล่านี้อย่างมาก
แล้วคนอีก 97% มีบทบาทอย่างไร กลุ่มคนในไทยส่วนมากจะมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม ยางพารา ข้าว ข้าวสาร มันสำหลัง อ้อย ซึ่งจะเป็นอาชีพของคนส่วนมากในประเทศ แม้จะมีรายได้ต่อคนน้อยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยแต่ถ้ารวมกันด้วยปริมาณคนที่มากก็จะเป็นกลุ่มลูกค้าของธุรกิจแบบนึงได้
นอกจากนั้นไทยจะมีนโยบายหารายได้เข้าประเทศซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วที่มี sector rotation model จะไม่เน้นหนัก เช่น การส่งออก และ การท่องเที่ยว ซึ่งจะถือเป็นรายได้ที่มีจำนวนมาก สินค้าที่ส่งออกที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ ยางพารา อาหารทะเล ส่วนข้าวจะมีมูลค่าน้อยแม้จะรวมกับสินค้าเกษตรอื่นๆแล้วก็ตาม
การส่งออก และการท่องเที่ยวสำหรับประเทศบริวารของส่วนกลางทุนนิยม จะกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจนอกเหนือจากกลุ่มใน sector rotation model
ถ้าพิจารณากลุ่มอุตสาหกรรมของไทย จะสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มภายนอกประเทศ Global และกลุ่มภายในประเทศ Domestic
โดยกลุ่มภายนอกประเทศจะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกที่มีความต้องการวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต เป็นตัวกำหนดการขยายหรือหดตัว และนอกจากนั้นถ้าเศรษฐกิจโลกดีซึ่งจะหมายถึงมีบางประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตได้ดีเช่น จีน ก็จะสร้างจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นจำนวนมากได้ เป้าหมายที่น่าสนใจในการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ หรือวัฒนธรรมที่ต่างออกไป ไทยจะมีความได้เปรียบอย่างมาก รายได้จากนักท่องเที่ยวดูจะมีจำนวนมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจโลกดีข้น แม้กลุ่มท่องเที่ยวอาจเกี่ยวพันกับความไม่สงบทางการเมืองแต่เนื่องจาก จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีมาก ก็จะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่ไม่ได้มีความกังวลในการมาเที่ยวแต่อย่างใด เงินเหลือเยอะต้องการใช้ให้หมดนั่นเอง
กลุ่มภายในประเทศจะมีกลุ่ม investment ซึ่งส่วนมากเกี่ยวกับการขายที่ดิน รับเหมาก่อสร้าง รับเหมา ICT และรายได้หลักของกลุ่มนี้ส่วนมากจะมาจาก รัฐบาลซึ่งมักจะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ ความไม่มั่นคงของรัฐบาลมักจะส่งผลให้เกิดการเลื่อนการลงทุนโครงการใหญ่ๆออกไปได้ ต้องรอรัฐบาลที่มั่นคงกลับมาอนุมัติโครงการขนาดใหญ่
กลุ่มบริโภคภายใน เมื่อประเทศหรือคนจำนวนนึงมีรายได้จากการส่งออก รถยนต์ อิเล็กทรอนิคส์ รายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศ รายได้เหล่านั้นก็จะมาจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีจำนวนธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก ทำงานแบบต่อเนื่องจากธุรกิจนึงไปธุรกิจนึง เป็นกลุ่มที่นักลงทุนจะเข้าใจง่ายเพราะจะคุ้นเคยกับชีวิตประจำวันมาก นักวิเคราะห์จะมีข้อมูลจำนวนมาก และการลงทุนแบบ VI ก็มุ่งเป้าไปที่กลุ่มเหล่านี้เพราะเนื่องจากความง่ายในการทำความเข้าใจแบบคนภายนอกบริษัท แค่อ่านรายงานก็เข้าใจได้ทะลุปรุโปร่ง
เมื่อความต้องการสินค้าและบริการชะลอตัวลง อาจเป็นมาจากการกระจายสินค้าบริการเติบโตมาถึงที่จะหาลูกค้าใหม่ได้ยากแล้ว หรือหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง หรือรายได้ที่ได้มาจากวัฎจักรของ Global หมดลง กลุ่มบริโภคก็จะชะลอตัว
ในบางบริษัทที่รายได้มีความมั่นคงสูงเช่น อาหาร สาธารณูปโภค อสังหาแบบเช่า โรงพยาบาล การชะลอตัวลงของรายได้ กำไร ราคาหุ้นอาจมีผลกระทบเล็กน้อย แต่ถ้าในกลุ่มที่เกี่ยวพันกับปริมาณเงินทุนไหลเข้าออกประเทศ หรือสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น อสังหาบ้าน คอนโด กลุ่มหลักทรัพย์ สินเชื่อ จะมีผลกระทบอย่างรุนแรง แบบเห็นได้ชัดในราคาหุ้น
การแก้ไขสถานการณ์การชะลอตัวของการบริโภค ถ้าเลือกวิธีถือรอขายในราคาเท่าทุน อาจต้องรอให้ผ่านวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่
การสังเกตว่าการลงทุนรอบใหม่จะเกิดขึ้นมักจะสังเกตได้ใน Global ที่ราคา ค่าระวางเรือ ปิโตร ถ่านหิน น้ำมัน ปรับตัวสูงขึ้น และตามมาด้วย ราคายางพารา ซึ่งเป็นวัตถุดิบประเภทนึง หรือถ้าสังเกตเศรษฐกิจภายในชุมชนที่ทำยางพารา การออกรถกระบะคันใหม่จะพบเห็นได้โดยง่าย ราคายางปรับตัวขึ้น เศรษฐีใหม่จะมีจำนวนมากขึ้น ที่ต้องดูจากราคายางเพราะมูลค่าการส่งออกมีมูลค่าสูงและยางพาราเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตรถยนต์ ซึ่งตลาด TOCOM จะเป็นแหล่งซื้อขายยางพาราที่สำคัญ ที่ญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของบริษัทผลิตรถยนต์จำนวนมาก และไทยถือเป็นฐานที่มั่นในการผลิตด้วย การที่ราคาวัตถุดิบราคาสูงขึ้นบ่งบอกถึงความต้องการการผลิตปรับเพิ่มสูงขึ้น วัฏจักรการขยายตัวที่แท้จริงได้เริ่มขึ้นนั่นเอง
เมื่อราคายางพาราปรับขึ้นมาซักระยะ รายได้ เงินที่ไหลเข้าประเทศก็จะกระจายไปในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ การเติบโตของกลุ่มบริโภคจะมีระยะเวลาอย่างน้อยๆ 6 เดือน - 1 ปี แล้วพักตัว จากนั้นอาจปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ถ้าการเคลื่อนไหวเงินทุนทางตรง การส่งออก การขายยางพารา เงินทุนทางอ้อม การซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติยังมีกระแสไหลเข้าต่อเนื่อง การไหลเข้าต่อเนื่องอาจมีเวลายาวนานมากถึง 3-5 ปีดังที่ปรากฎในตลาดหุ้นไทย มาตั้งแต่ปี 2553-2556
และในทางกลับกันเมื่อ เงินทุน เหล่านั้นหยุดชะงัก แล้วเปลี่ยนทิศทาง จุดจบของกลุ่มบริโภคก็มาถึงได้เช่นกัน Finance สินเชื่อ, Broker, Property คอนโดจะเป็นกลุ่มที่ปิดท้ายวัฏจักร
บทสรุป
จะไม่มีกลุ่มอุตสาหกรรมใดที่ดีทุกช่วงเวลาของวัฏจักรเศรษฐกิจ แต่จะมีบางบริษัทที่ดีกว่าทุกสภาพตลาดได้ เมื่อตลาด เศรษฐกิจดี ราคาก็ขึ้นได้ดีกว่าตลาด เมื่อตลาดหุ้น เศรษฐกิจแย่ ราคาก็ลงแต่ลงน้อยกว่าตลาด ลักษณะบริษัทแบบนี้ เหมาะอย่างยิ่งที่จะถือครองต่อเนื่อง ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะคุณสมบัติที่ดีในการแข่งขัน ได้กล่าวไว้ในบทความ บริษัทดี
กลุ่มที่นำตลาดมักจะมีสภาพที่ราคาดีกว่าตลาดได้อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลานึง บริษัทที่ดีในกลุ่มนำ ก็จะยิ่งส่งเสริมให้ราคาของหุ้นดีมากขึ้นได้ การคัดเลือกหุ้นดีก็จะเป็นปัจจัยที่สำคัญนอกจากการคัดเลือกกลุ่มนำที่ดี
In order to succeed, your desire for success should be greater than your fear of failure.
Bill Cosby
คลิ๊กที่ภาพ
ขาลง TFEX จะกำไรน่าประทับใจ แต่ถ้าเป็นหุ้นเล่นไปก็มีแต่ขาดทุนไม่มากก็น้อย
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น